เจาะลึก 6 เทรนด์ท่องเที่ยว ปี 2024 และโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยว

                เป็นประจำของทุกปี เมื่อเข้าใกล้ช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่า ใกล้เข้าสู่ปีใหม่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาจกำลังเฝ้ารอการคาดการณ์เทรนด์ท่องเที่ยวประจำปีถัดไปสำหรับการวางแผนและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่และทำความเข้าใจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในอนาคต

               งานไทยเที่ยวไทย รวบรวมแนวคิด 6 เทรนด์ท่องเที่ยวและโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ปี 2024 มาฝากทุกคนกัน (ข้อมูลจากทีมงานการตลาด ททท.)

               1.หนีร้อนไปพึ่งเย็น

               หลายภูมิภาคทั่วโลกสัมผัสถึงปรากฏการณ์ “คลื่นความร้อน” ที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหาทางหนีกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปสู่สถานที่ที่เย็นกว่าเพื่อเยียวยาตนเอง

               การสำรวจพบว่า 56% ของนักท่องเที่ยวอยากจะเดินทาง “หนีร้อนไปพึ่งเย็น” เมื่ออุณหภูมิใกล้บ้านสูงขึ้น ทั้งนี้ สถานที่ที่เย็นกว่าไม่ได้หมายความถึงความเย็นแบบฤดูหนาว หิมะ หรือน้ำแข็งเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวสัมพันธ์กับ “น้ำ” เช่น ทะเล มหาสมุทร ทะเลสาป หรือแม้แต่สระว่ายน้ำอีกด้วย

               ผู้ประกอบการจึงควรปรับปรุงบริการให้ตอบสนองความคาดหวังเรื่อง “ความเย็น” เช่น การแสดงข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ เสริมสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ ทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งน้ำ สระว่ายน้ำ หรือพื้นที่กลางแจ้ง รวมถึงการอัปเดตสภาพอากาศ ยังเป็นหนึ่งปัจจัย สำหรับการวางแผนและตัดสินใจออกเดินทางของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

               2.AI ผู้ช่วยการเดินทาง 📲

               ปี 2024 นักท่องเที่ยวเปิดใจ เลือกใช้งาน AI มากขึ้นในฐานะผู้ช่วยการเดินทาง ข้อมูลจาก Expedia ระบุว่านักท่องเที่ยวสนใจใช้ Generative AI วางแผนการเดินทางครั้งถัดไป และมีแนวโน้มถูกใช้กว้างขวางมากขึ้น กำลังจะกลายเป็นหนึ่งเครื่องมือที่จำเป็นสำคัญต่อการวางแผนท่องเที่ยวในอนาคต

               เกือบ 40% ของนักเดินทางมีแนวโน้มที่จะใช้ Generative AI เพื่อช่วยค้นหาโรงแรมหรือที่พักให้เช่า 1 ใน 3 จะใช้เพื่อเปรียบเทียบตัวเลือกเที่ยวบิน โรงแรม ร้านอาหาร และ 35% จะใช้เพื่อค้นหากิจกรรมที่น่าสนใจ ความฉลาดของ AI ช่วยให้การจัดการทริปท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

               ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงต้องเปิดใจ นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มายกระดับการบริการ เช่น การตอบคำถาม การใช้ความช่วยเหลือลูกค้า หรือการลดการติดต่อระหว่างบุคคลโดยไม่จำเป็น เป็นต้น เครื่องมือ AI ถือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่สามารถอำนวยความสะดวกการทำงานด้านการท่องเที่ยวได้ดี

               3.นักเฟ้นหาอาหาร 🔎🍲

                ผู้ตอบแบบสอบถามราว 2 ใน 3 แสดงความสนใจอย่างชัดเจนที่จะออกเดินทางเพื่อสำรวจอาหาร 61% สนใจที่จะเรียนรู้ต้นกำเนิดของอาหารที่เคยรับประทาน พฤติกรรมท่องเที่ยวดังกล่าวเรียกว่า “นักเฟ้นหาอาหาร”

              ผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรสร้างสรรค์อาหารที่น่าสนใจ สำหรับต่อยอดเป็นจุดขาย ลองพิจารณาหนทางการทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่นเพื่อหยิบยกวัฒนธรรมอาหารต้นตำรับมานำเสนอคุณค่าแก่นักเดินทาง

              การเปิดรับเทรนด์ “ตะลุยชิม” สามารถดึงดูดผู้เดินทางสายกินเข้ามามากขึ้น ผู้ประกอบการอาจนำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารมาประยุกต์เข้ากับกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น การเชื่อมโยงเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ หรือจัดกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เวิร์กช็อปด้านอาหารในที่พัก เป็นต้น

              4.หรูหรา คุ้มค่าเงิน 🪙

              “ความคุ้มค่า” จะมีน้ำหนักมากขึ้นสำหรับการพิจารณาเลือกแผนการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะกลุ่มกระเป๋าหนัก) ต้องการที่จะลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น ผู้เดินทางมากกว่า 50% จะเลือกท่องเที่ยวพื้นที่ใกล้ ๆ บ้านหรือไปจุดหมายที่มีราคาถูกกว่าที่ที่ตนอาศัยอยู่

                นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวราว 51% มีความคิดที่จะเลือกซื้อบริการเฉพาะของทางโรงแรมแบบรายวันแทนที่การเข้าพักแบบปกติเพื่อใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมหรูอีกด้วย

                การยกระดับประสบการณ์ด้วยราคาสบายกระเป๋า ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยว จำเป็นต้องนำเสนอแพ็กเกจที่มีความเฉพาะและหลากหลายมากขึ้น ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย อัปเกรดประสบการณ์และข้อเสนอที่น่าสนใจได้อย่างตรงใจของนักท่องเที่ยว

                5.ดื่มแอลฯน้อย ดื่มด่ำบรรยากาศมาก 🍻

                Dry Tripping กำลังเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่มาแรงในกลุ่ม Gen Z มีความหมายกว้าง ๆ ว่า การท่องเที่ยวที่โฟกัสตัวเองและประคองสติมากขึ้น

                นักท่องเที่ยวเริ่มมีความต้องการจะออกห่างจาก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” สำหรับเหตุผลการรักษาสุขภาพ คนอายุน้อยจึงมองหาประสบการณ์วันหยุดที่ไม่เน้นเรื่องการดื่ม และเชื่อว่าจะเพิ่มเวลาระหว่างการท่องเที่ยวมากขึ้น สามารถดื่มด่ำประสบการณ์ท่องเที่ยวได้ดีกว่าที่เคย

                ความท้าทายของผู้ประกอบการท่องเที่ยว คือ การค้นหาบริการที่มอบความบันเทิงโดยปราศจากแอลกอฮอล์ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การจัดงานศิลปะในโรงแรม การจัดฉายภาพยนตร์ บาร์ขนมหวาน หรือโฟกัสไปที่กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

                6.ฟินกับความยั่งยืน

                73% ของนักท่องเที่ยวยังคงสนับสนุนแนวทางเพื่อความยั่งยืนต่อไป Booking.com เผยว่า หลังจากนี้ นักท่องเที่ยวจะมีความชาญฉลาด และเพ่งเล็งนโยบายด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น เทรนด์ความยั่งยืนยังคงได้ไปต่อบนเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2024

               กว่า 53% ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านความยั่งยืน 60% ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากนโยบายด้านความยั่งยืนของธุรกิจท่องเที่ยว และยังรู้สึกดีกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีพื้นที่สีเขียว อุดมด้วยต้นไม้ อากาศบริสุทธิ์ และมีกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

               ความยั่งยืนกลายเป็นสไตล์การท่องเที่ยวที่ทุกธุรกิจท่องเที่ยวทิ้งไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงต้องตื่นตัวและเป็นผู้แสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่ธุรกิจของตนเองอยู่เสมอ

 

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ TAT Acadamy