พลังสีรุ้งช่วยฟื้นการท่องเที่ยวไทย
คนส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้วว่า LGBT คือ Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) และ Transgender (กลุ่มข้ามเพศ) แต่หลายปีมานี้มีตัว Q หรือ Queer (กลุ่มที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดเรื่องเพศและความรัก) เพิ่มเข้ามาเป็น LGBTQ หรือบางครั้งอาจเคยเห็นเขียนว่า LGBTQ+ หมายความว่า ยังมีอีก แต่ทั้งหมดคือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ
ก่อนจะมีกฎหมายรับรองการแต่งงานในเพศเดียวกันเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ชาว LGBTQ ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตัวเองมาหลายทศวรรษ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยถูกเลือกปฏิบัติ ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง จนนำมาสู่เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ในนิวยอร์ก เมื่อปี 1969 ที่ชาวเกย์ลุกขึ้นต่อสู้กับตำรวจและความอยุติธรรมในสังคม เป็นที่มาของ Pride Month เดือน June ของทุกปี หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องด้วยมาตรการควบคุมการระบาดที่ล็อกดาวน์การเดินทางของคนทั่วโลก ส่งผลให้แทบทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น สายการบิน ที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ความหวังเดียวของคนในอุตสาหกรรมนี้ในขณะนั้น คือการที่โลกจะกลับมาเปิดให้ทุกคนเดินทางได้อีกครั้ง และผู้ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นคืนการท่องเที่ยวโลกหลังโควิด-19 ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือ “ชาว LGBTQ” หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกลายมาเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของโลก
สาเหตุที่ทำให้ชาว LGBTQ ถูกมองว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักในโลกหลังจากนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยผลวิจัยของ เอาท์ นาว คอนซัลติ้ง ร่วมกับ เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต (WTM) พบว่า นักท่องเที่ยว LGBTQ ทั่วโลกมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6.64 ล้านล้านบาท
โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ออกเดินทางเพื่อพักผ่อนและหลบหนีจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน (Relax & Escape) ซึ่งคล้ายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ กีฬากลางแจ้งหรือกิจกรรม Soft Adventure เช่น การเดินป่า กีฬาทางน้ำ รวมทั้งการท่องเที่ยวยามค่ำคืน หรือกิจกรรม Nightlife
สิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เติบโต และมีแนวโน้มว่าจะยังเติบโตสูงขึ้นอีก มาจากปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายในหลายประเทศ การที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศต่าง ๆ มีสถานที่และบริการที่เป็นมิตรกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น (LGBTQ Friendly) หรือการจัดงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้อย่าง Pride Parade เพื่อเฉลิมฉลองกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา อันเป็นกิจกรรมที่ชักชวนให้พวกเขาออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อไปร่วมงาน โดยงานแต่ละครั้งสามารถดึงดูดผู้คนได้นับแสนๆ คน
ที่น่าสนใจก็คือ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย จัดให้ชาว LGBTQ เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพ เพราะเป็นกลุ่มที่ยังคงเลือกที่จะเดินทางพักผ่อน แม้ว่าเศรษฐกิจจะฝืดเคืองแค่ไหนก็ตาม โดยพบว่ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เฉลี่ยมีการเดินทาง 8 ครั้งต่อปี
นอกจากนี้พวกเขายังมีไลฟ์สไตล์การเดินทางแบบสบาย ๆ มีกำลังทรัพย์ในการเลือกที่พักและกินดื่มที่ค่อนข้างหรูหรามากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 30-40% เนื่องจากคู่รักชาว LGBTQ ส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร จึงพอใจที่จะจับจ่ายเพื่อแสวงหาความสุขได้ตามที่ต้องการ ทั้งการเลือกเข้าพักโรงแรมแบบ 5 ดาว หรือรีสอร์ตพูลวิลล่า พร้อมใช้บริการสปา หรือเลือกร้านอาหารที่ดี แต่ก็ไม่ได้จำกัดแต่ร้านอาหารแพง ๆ เท่านั้น เพราะพวกเขายังพร้อมที่จะลองอาหารสตรีทฟู้ดหากมีคุณภาพและชื่อเสียงที่ดี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมกล้าลองอะไรใหม่ๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยอีกด้านที่ต้องคำนึงถึงในการท่องเที่ยวของชาว LGBTQ คือ การเปิดกว้างและยอมรับชาว LGBTQ ในสังคมของประเทศนั้นๆ เนื่องจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก (และหลายประเทศเป็นที่ที่ชาว LGBTQ ชื่นชอบ) ยังมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม โดยในจำนวนนั้น มี 11 ประเทศที่มีบทลงโทษเป็นความตายสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และแม้ว่าบางประเทศจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แต่ก็ใช่ว่าคนในชุมชนหรือคนพื้นถิ่นจะยอมรับคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกับรัฐบาล เช่น บางครั้งคู่รักเพศเดียวกันอาจได้รับสายตาที่ชวนน่าอึดอัดใจเมื่อจองห้องพักเตียงเดี่ยวที่โรงแรม ซึ่งก็อาจสร้างความลำบากใจให้ได้เช่นกัน
ดังนั้น ชาว LGBTQ จึงอาจต้องพิจารณาถึงรายละเอียดและบริบทของแต่ละท้องถิ่นให้รอบคอบก่อนออกเดินทางเพื่อสร้างความสุขให้กับการเดินทางได้อย่างแท้จริง
ในงานไทยเที่ยวไทย จะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เปิดกว้าง พร้อมต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยว LGTBQ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงมีสินค้าและบริการหลายอย่างแสดงสัญลักษณ์สีรุ้งตั้งโชว์เพื่อจำหน่ายอย่างเปิดเผย ซึ่งผู้จัดงานเองก็มีน้องๆ ที่เป็น LGTBQ คอยต้อนรับเพื่อนสมาชิกครอบครัวงานไทยเที่ยวไทยสีรุ้งทุกคน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.creativethailand.org